อาการของภาวะโซเดียมในเลือดสูง
อาการที่พบได้บ่อยของภาวะ Hypernatremia คือ ผู้ป่วยจะกระหายน้ำมากกว่าปกติ แต่บางครั้งอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น
- ปัสสาวะน้อยผิดปกติ
- ร่างกายอ่อนแรง ง่วงซึม
- หงุดหงิดง่าย
- ปากแห้ง ตาแห้ง
- สับสน มึนงง ปวดหัว
- หายใจเร็วกว่าปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- สำหรับเด็กทารก มักมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หงุดหงิดง่ายผิดปกติ ร้องกวน งอแง หรือง่วงซึม
- ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือหดเกร็ง และชัก
ภาวะ Hypernatremia อาจเกิดขึ้นได้ทั้งอย่างเฉียบพลันและเรื้อรัง อีกทั้งยังเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนในรายที่มีอาการรุนแรงด้วย ผู้ป่วยจึงควรสังเกตความผิดปกติของตนเองอยู่เสมอ และควรไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เข้าข่ายภาวะนี้ เพราะจะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
สาเหตุของภาวะโซเดียมในเลือดสูง
ภาวะ Hypernatremia เป็นผลจากร่างกายเสียน้ำเป็นปริมาณมากหรือได้รับโซเดียมมากเกินไป จึงทำให้ระดับน้ำและโซเดียมในร่างกายไม่สมดุล ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง
- การดื่มน้ำในปริมาณน้อยจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- การเสียน้ำออกจากร่างกายเป็นปริมาณมาก เช่น เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ท้องเสีย หรืออาเจียนอย่างหนัก เป็นต้น
- การมีอายุเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ความอยากอาหารและการดื่มน้ำลดลง
- การใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาขับปัสสาวะที่อาจกระตุ้นให้ร่างกายขับน้ำออกมาในปริมาณมากผ่านการปัสสาวะ
- โรคหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อระดับโซเดียมในเลือด เช่น โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ผิวหนังได้รับความเสียหายจากความร้อนจนอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้
- ทารกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอหรือดื่มนมผงที่มีส่วนผสมของโซเดียมเป็นปริมาณมาก
การวินิจฉัยภาวะโซเดียมในเลือดสูง
แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะ Hypernatremia ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ตรวจร่างกายและซักประวัติเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาที่ผ่านมา ประวัติการใช้ยา และปริมาณน้ำที่ดื่ม เพื่อตรวจหาภาวะขาดน้ำ รวมทั้งตรวจหาอาการผิดปกติและโรคที่เกี่ยวข้อง
- ตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ ตรวจหาว่าระดับโซเดียมในเลือดมีปริมาณเท่าใด อยู่ในระดับปกติหรือไม่ เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินอาการและการรักษาได้อย่างเหมาะสม
- ตรวจการทำงานของระบบประสาท ภาวะ Hypernatremia อาจมีผลกระทบต่อสมอง จึงต้องมีการตรวจเกี่ยวกับระบบประสาทต่าง ๆ ด้วย เช่น การตอบสนองต่อแสงของดวงตา การทดสอบความจำ เป็นต้น
การรักษาภาวะโซเดียมในเลือดสูง
การรักษาจะเน้นไปที่การทำให้ระดับโซเดียมในเลือดกลับมาอยู่ในสภาวะสมดุล โดยแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุและความรุนแรงของอาการ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งหากเป็นอาการที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วกว่าแบบเรื้อรัง
โดยการรักษาภาวะ Hypernatremia มีดังนี้
- การดูแลอาการด้วยตนเอง หากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้โดยดื่มน้ำเปล่า เพื่อช่วยให้ระดับของเหลวและโซเดียมในร่างกายกลับมาสู่สภาวะสมดุล หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะ Hypernatremia เช่น งดกิจกรรมที่ทำให้เสียเหงื่อ งดใช้ยาขับปัสสาวะที่ทำให้ร่างกายเสียน้ำในปริมาณมาก เป็นต้น
- การรักษาโดยแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์อาจให้น้ำเกลือเข้าทางกระแสเลือดโดยตรง และคอยติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดโดยการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ จนกว่าปริมาณโซเดียมและของเหลวในเลือดจะกลับสู่สภาวะสมดุล และในบางกรณีอาจต้องรักษาโรคหรืออาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เป็นต้นเหตุนำไปสู่ภาวะนี้ด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะโซเดียมในเลือดสูง
โดยปกติแล้ว ผู้ป่วย Hypernatremia นั้นจะมีอาการไม่รุนแรง สามารถดูแลตนเองจนหายดีได้ แต่บางกรณีที่ป่วยรุนแรง อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองได้ เช่น
- มีเลือดออกในสมอง เป็นภาวะที่หลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เลือดไปสะสมและทำลายเนื้อเยื่อสมอง มักเป็นอาการแทรกซ้อนจากภาวะ Hypernatremia แบบเฉียบพลัน ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติ เป็นอัมพาต หรือสูญเสียความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น การทรงตัว การกลืน เป็นต้น
- สมองบวม เป็นภาวะที่มีของเหลวส่วนเกินสะสมในสมอง มักเป็นอาการแทรกซ้อนจากภาวะ Hypernatremia แบบเรื้อรัง ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำ ชักเกร็ง หรือหมดสติได้
ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ทันการณ์ อาจเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เช่นกัน
การป้องกันภาวะโซเดียมในเลือดสูง
การป้องกันภาวะ Hypernatremia นั้น ทำได้โดยสังเกตความผิดปกติของตนเอง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น
- ดื่มน้ำเพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไปหากรู้สึกกระหายน้ำหรือเสียเหงื่อในปริมาณมาก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงในปริมาณมาก เช่น ไส้กรอก แฮม อาหารสำเร็จรูป ซอสปรุงรสต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งควรศึกษาฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป
- ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะควรระมัดระวังและปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง
- หากสงสัยว่าตนเองมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อภาวะ Hypernatremia ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
#ซอส #ซอสสุขภาพ #ซอสโซเดียมต่ำ #ซอสคลีน #ปรุงสุขภาพ #เครื่องปรุงรสไม่มีส่วนผสมของสารกันเสีย #เครื่องปรุงรสไม่มีสารก่อมะเร็ง #เครื่องปรุงสุขภาพ #เครื่องปรุงรสไร้ถั่ว #ซอสที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ #เครื่องปรุงที่ผู้มีโรคประจำตัวทานได้